รบกวนโลกให้น้อยลง 1:
ตระหนก และ ตระหนัก
สองฝากฝั่งของการรับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบันกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกนำมาเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์แทบทุกสื่อ ส่วนใหญ่กลยุทธ์ในการนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะออกมาในเชิงผลกระทบที่เกิดจากมนุษย์
เกือบทุกสื่อจะมุ่งไปที่ผลของการบริโภค
เมื่อก่อนการนำเสนอข่าวสารเรื่องสิ่งแวดล้อมจากฝากนักวิชาการมักนำเสนอในมุมความรู้เชิงวิชาการ ให้ข้อมูลข่าวสารที่มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์รองรับและอธิบายผลที่เกิดเหล่านั้นได้แบบมีตรรกะ
แต่ด้วยวิธีนำเสนอแบบนั้นทำให้เกิดการตื่นตัวของผู้บริโภคน้อยมาก ความตระหนักเลยไม่สามารถเกิดได้ชั่วข้ามคืน ต้องใช้เวลาให้ข้อมูลมาสนับสนุนความตระหนักถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงการเรียนรู้
อีกฝากของนักสื่อสารและ NGOs ด้วยเงื่อนของเวลาและปริมาณข้อมูลที่ไม่สอดรับกัน ทำให้นักสื่อสารและ NGOs หันมาใช้กลยุทธ์ที่สั้นและรวดเร็วโดยอิงข้อมูลทางวิชาการบ้างบางส่วนแต่สร้างกระแสให้เกิดความตระหนก
ซึ่งความตระหนกทำให้เกิดความกลัวและเมื่อผู้บริโภคกลัว โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลอะไรมากมายมารองรับ แค่อ้างอิงข้อมูลที่ทำให้คนตระหนก การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้คิดถึงความถูกต้องของข้อมูล
ซึ่งถ้าในภายหลังมีข้อมูลมากขึ้น หลุดจากอารมณ์ความตระหนกก็จะกลับมาใช้พฤติกรรมแบบเดิม ซึ่งไม่ยั่งยืน และอาจทำให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ให้ร่วมมืออีกเลย
ความตระหนก และความตระหนัก
จึงเป็นสองกลยุทธ์ที่ต้องเลือกใช้ให้ดีในสังคม ไม่ว่าจะเรื่องเกี่ยวกับ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
เราควรหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้ มีข้อมูลที่ดีมาสนับสนุนความเชื่อและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างอาจต้องหันมาสร้างรูปแบบที่มีทั้งความตระหนก และ ความตระหนักควบคู่ไปด้วยกัน
ปัญหาที่คนมองว่าโลกจะแตก โลกจะดับ หรือโลกจะร้อนขึ้น อาจเป็นแค่กลยุทธ์สร้างความตระหนก
แต่ถ้าเราทุกคนเข้าใจโลก เราจะตระหนักรู้ถึงผลจากการบริโภคที่ทำให้โลกขาดสมดุล เพราะมนุษย์เราใช้ทรัพยากรมากเกินกว่าที่ความสามารถของโลกจะสร้างมาทดแทนได้ใหม่ และเราปล่อยของเสียมากและเร็วกว่าที่โลกจะบำบัดเพื่อให้ของเสียเหล่านั้นกลัับมาเป็นของดีได้ใหม่
โลกเลยต้องหาวิธีปรับสมดุลในวงจรธรรมชาติ
และทุกครั้งที่โลกปรับสมดุล ย่อมเกิดผลกระทบกับทุกสิ่งในโลก ใครที่แข็งแรงและเอาตัวรอดได้ ก็จะอยู่ต่อได้ในโลกใบเก่าแต่มีโฉมใหม่
ถ้าเราทุกคนอยากช่วยกันยืดเวลาของการปรับสมดุลของโลก ตามกลไกของธรรมชาติให้ยืดยาวออกไป
แค่เราบอกตัวเองว่าเราจะช่วยกัน “รบกวนโลกให้น้อยลง” แค่นั้นอาจจะช่วยยืดเวลาออกไปได้อีกนานเท่านานที่เรายังตระหนักรู้ มากกว่า แค่ตระหนกตื่นเต้นไปวันๆ
สินชัย เทียนศิริ (คนสามัญประจำโลก)